ประวัติกระจับปี่พัฒนามาจาก เครื่องดนตรีประเภทหนึ่งของอินเดีย มีต้นกำเนิดจากการดีดสายธนู ย้อนเวลากลับไปเมื่อพันกว่า ปีล่วงมาแล้ว กัจฉปิ หรือ กระจับปี่ถูกใช้บรรเลงกันอย่างแพร่หลายในชมพูทวีป ด้วยบทบาทที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาที่สำคัญในขณะนั้น คือ ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งให้ความสำคัญกับการดนตรีและนาฏยศาสตร์เป็นอย่างมาก จัดเป็นศาสตร์ชั้นสูงที่มีแบบแผนชัดเจนเป็นตำราหรือคัมภีร์ทางด้านนี้โดย เฉพาะ เพื่อขับกล่อมแก่เทพและสมมุติเทพตามความเชื่อทางศาสนา การดนตรีจึงเป็นของคู่กันกับศาสนาพราหมณ์อย่างแยกไม่ออกทีเดียว
เมื่อศาสนาพราหมณ์เผยแผ่ไปสู่ดินแดนใด ศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องด้วยย่อมได้รับการถ่ายทอดสู่ดินแดนนั้น ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งรวมถึงกระจับปี่ด้วยเช่นกัน หากแต่เส้นทางในการเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์เข้าสู่สุวรรณภูมิ มีด้วยกันหลายเส้นทาง และหลายยุคสมัย จึงยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าเส้นทางใดจะมีความเป็นไปได้มากกว่ากัน ดังที่มีข้อสันนิษฐานของนักวิชาการหลาย ๆ ท่านได้แสดงทัศนะต่าง ๆ กันไปคือ
เส้นทางที่ 1กระจับปี่ อาจเข้าสู่ไทยโดยผ่านทางประเทศพม่า ซึ่งอดีตเคยเป็นอาณาจักรพุกามที่เจริญรุ่งเรืองทางศาสนามาก และยังเป็นเขตติดต่อกับอินเดียตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ มีการเล่นกระจับปี่กันอย่างแพร่หลายเมื่อกว่า พันปีอีกด้วย
แต่ดูเหมือนว่าข้อสันนิษฐานนี้จะยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนมากนัก อย่างน้อยที่สุดก็ยังไม่มีการยืนยันว่าในพื้นที่อาณาจักรพุกามนี้เคยมีคน นิยมเล่นกระจับปี่กันมาก่อน
เส้นทางที่ 2 กระจับปี่ เข้าสู่ไทยโดยผ่านทางเขมร ในยุคที่ขอมเรืองอำนาจ ซึ่งขณะนั้นไทยยังเป็นเพียงรัฐเล็ก ๆ ภายใต้การปกครองของขอม ข้อสันนิษฐานนี้นักวิชาการได้ให้น้ำหนักค่อนข้างมาก เนื่องจากในพุทธศตวรรษ ที่ 13-17 เป็นช่วงที่ขอมมีอำนาจแข็งแกร่ง และเป็นช่วงระยะเวลายาวนานมาก จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าไทยเราจะได้รับเอาขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมต่าง ๆ เข้าไว้อย่างมากมาย ที่เห็นชัดเจนคือ รูปแบบการปกครอง และภาษา โดยเฉพาะคำราชาศัพท์หลาย ๆ คำล้วนแต่เป็นคำในภาษาเขมรทั้งสิ้น ดนตรีในราชสำนักเมืองพระนคร (กัมพูชา) ก็น่าจะได้เผยแผ่สู่ประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน
หากอ้างถึงคำอธิบายเรื่องกระจับปี่ของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ประทานอธิบายไว้ว่า “กัจฉปิ ที่เป็นคำชวานั้น เพี้ยนเป็น แขสจาเป็ย หรือแคชจาเป็ย ในภาษาขอม” ก็น่าจะมีความเป็นไปได้ว่า เมื่อขอมรับเอาศาสนาพราหมณ์มาจากชวา กระจับปี่ก็ถูกถ่ายทอดมาสู่อาณาจักรขอมด้วยพร้อมกัน แต่เกิดการผิดเพี้ยนจากชื่อเดิม ไปเป็น แคชจาเป็ย (ในปัจจุบัน ชาวกัมพูชาเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า แคชจาเป็ย หรือจาเป็ย –Chapey-) เมื่อไทยรับมาอีกทอดก็เกิดการผิดเพี้ยน ไปเป็น กระจับปี่ อีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีผู้นิยมเล่นกระจับปี่ในกัมพูชาอยู่มาก โดยมีรูปแบบการเล่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ และมีความเป็นพื้นถิ่นค่อนข้างสูง ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่าคงมีการเล่นกันมานานมากแล้ว จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของกระจับปี่เขมรที่โดดเด่นอยู่จนทุกวันนี้
เมื่อมองกลับไปอีกมุมหนึ่ง ณ ประเทศกัมพูชา ที่ซึ่งอาจจะเป็นต้นตำรับของกระจับปี่ไทย ตามข้อสันนิษฐาน ปัจจุบันกระจับปี่เขมร (เขมร เรียก จาเป็ย) ก็ค่อย ๆ ห่างหายจากวงดนตรีเขมรส่วนใหญ่ด้วยเช่นกัน และที่เหมือนกันอีกอย่างก็คือ หน้าที่นี้ถูกแทนที่ด้วยจะเข้เขมร (เขมร เรียก กราเบอ ) หากแต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ หนทางรอดของกระจับปี่เขมร ดูจะสดใสและดูจะรุ่งโรจน์เสียกว่าเมื่ออยู่ในวงดนตรีแบบฉบับของเขมรเสียอีก
กระจับปี่เขมร ในปัจจุบันนี้นิยมบรรเลงเดี่ยว ๆ เป็นหลัก และบรรเลงประกอบการขับลำนำด้วยทำนองพื้นบ้าน ที่เข้าถึงคนฟังชาวเขมร มีทั้งที่เป็นการบรรเลงประกอบการขับลำนำแบบโบราณ และแบบประยุกต์ซึ่งสอดแทรกเรื่องตลกและเหตุการณ์ข่าวสารในปัจจุบันสู่ผู้ฟังได้อย่างเหมาะสม จนเป็นที่ชื่นชอบมีการผลิตเทป ซีดี และวิดีโอซีดี ขายกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว (หาข้อมูลประกอบได้จากเว็ปไซต์ต่าง ๆ ค้นคำว่า Chapey Khmer )
เส้นทางที่ 3 กระจับปี่ เข้าสู่ไทยโดยผ่านทางชวา ซึ่งเป็นที่แรกที่มีการเผยแผ่ศาสนาพราหมณ์เข้ามาสู่เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อราว พุทธศตวรรษที่ 11-13 ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของอาณาจักรศรีวิชัยที่รุ่งเรืองในคาบสมุทรมลายู และชวา เป็นเมืองท่าที่สำคัญ มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าจากอินเดียและเปอร์เซีย จึงกลายเป็นอู่อารยธรรมทางศาสนาของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ในเวลาต่อมา
ในขณะนั้นไทยเรายังเป็นกลุ่มชนเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไป ในเขตอาณาจักรทวารวดี (อารยธรรมมอญโบราณ) แถบตอนกลางของดินแดนสุวรรณภูมิ ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรศรีวิชัยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้รับเอาอารยะธรรมจากอินเดียเข้ามาบ้างแล้ว เช่น ศาสนา ได้แก่ ศาสนาพราหมณ์ในยุคแรก และศาสนาพุทธมหายาน
ข้อสันนิษฐานนี้ได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเมื่อมีการขุดค้นพบประติมากรรมปูน ปั้นสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษืั้ 13-15 พบที่คูบัว จังหวัดราชบุรี เป็นรูปนักดนตรีหญิง กำลังเล่นพิณน้ำเต้า (หรือขลุ่ยกันแน่) ฉิ่ง กรับ และเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งลักษณะเป็นพิณมี 5 สาย คล้ายกระจับปี่ ซึ่งในประเทศอินเดียก็พบภาพประติมากรรมหินสลักรูปวงดนตรีในยุคก่อนหน้าสมัย ทวารดีมีลักษณะคล้าย ๆ กันอีกด้วย
แม้ภาพที่พบจะไม่ใช่หรือไม่เหมือนกระจับปี่ในปัจจุบันเสียทีเดียว แต่ก็ทำให้ทราบได้ว่า เครื่องดนตรีในกลุ่ม วีณา หรือพิณ ของอินเดียโบราณซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิด ได้เข้ามาสู่แดนสุวรรณภูมิตั้งแต่สมัยทวารวดีแล้ว ซึ่งกระจับปี่ก็อาจจะถูกนำเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าวแล้วก็เป็นได้ แต่จะได้รับความนิยมแพร่หลายขนาดไหนไม่สามารถจะบอกชัดลงไปได้
การสืบค้นจากอดีตที่ผ่านพ้นมา และไม่มีหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษร อาจชี้ชัดไม่ได้ว่ากระจับปี่เข้ามาสู่ประเทศไทยทางใด และสมัยใด แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะบอกได้ก็คือ กระจับปี่ มีความเป็นมา ยาวนานเหลือเกิน และเป็นมรดกแห่งอารยะธรรมตะวันออกที่ตกทอดมาสู่ชนรุ่นหลังแม้ไม่รุ่งเรือง เช่นในอดีต แต่ก็ยังคงทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ในอดีตกับวัฒนธรรม ที่พัฒนาไปตามกาลเวลาได้อย่างเหมาะสมตามอัตภาพ
ตามหลักฐานพบว่า กระจับปี่ที่แน่ชัดมีมาตั้งแต่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวไว้ในกฎมณเฑียรบาลว่า “ร้องเพลงเรือ เป่าปี่เป่าขลุ่ย สีซอดีดจะเข้
กระจับปี่ตีโทนทับ โห่ร้องนี่นั่น” ต่อมาก็นำมาใช้เป็นเครื่องดีดประกอบการขับไม้ สำหรับบรรเลงในพระราชพิธี แต่เนื่องจากกระจับปี่มีเสียงเบา และมีน้ำหนักมาก ผู้ดีดกระจับปี่จะต้องนั่งพับเพียบขวาแล้วเอาตัวกระจับปี่ วางบนหน้าขาข้างขวาของตน เพื่อทานน้ำหนัก มือซ้ายถือคันทวนมือ ขวาจับไม้ดีด เป็นที่ลำบากมาก อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไม่ค่อยมีผู้นิยมเล่นกระจับปี่ ในปัจจุบันจึงหาผู้เล่นได้ยาก
ที่มาของชื่อกระจับปี่ สันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจาก ภาษาชวา คำว่า กัจฉปิ ซึ่งคำว่า กัจฉปิ นั้นมีรากฐานของคำศัพท์ ในบาลีสันสกฤต คำว่า กัจฉปะ ที่แปลว่า เต่า เนื่องจากลักษณะของ กระจับปี่นั้น จะมีกระโหลกเป็นรูปกลมรีแบนทั้งหน้าหลัง ซึ่งมองแล้วคล้ายกับกระดองของเต่า จาก นิรัย พันแก่น และ ทับทิม สุกใส ส่วนกระจับปี่ในอินเดียเรียกว่ากัจฉะปิวีณา เป็นพิณโบราณของอินเดียที่กะโหลกทำเป็นรูปเต่า
จากhttp://personal.swu.ac.th/students/hm471010344/jeed.htmth.wikipedia.org
www.bloggang.comwww.mythaiclassicalmusic.comwww.thaiclassic.netwww.youtube.com