ขนมมาจากคำว่า “ข้าวหนม” เดิมหมายถึง สิ่งที่ได้จากการนำข้าวมานวด แต่บ้างว่าหมายถึง การเข้าถึงความหวาน หลังจากนั้นคำว่า ข้าวหนม ก็เพี้ยนเป็น “ขนม” ในที่สุด ในอดีตคนไทยนั้นใช้ส่วนประกอบทำขนมหลักทั้งหมด 3 อย่างคือ
1. แป้งข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว
2. น้ำตาลปึกหรือน้ำตาลปี๊ป
3. มะพร้าว
ในที่สุดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชก็ได้มีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ และท้าวทองกีบม้าได้นำส่วนประกอบอื่นๆ ในการทำขนมแบบตะวันตก มาประกอบกับขนมไทยเช่น นม น้ำตาล ไข่ แป้งสาลี ฯลฯ หากขนมไทยชนิดใดมีใส่ นม ไข่ และแป้งสาลี แน่นอนเลยว่าไม่ใช่ขนมไทยๆ เช่น ขนมฝรั่งกุฎีจีน ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง สังขยา หม้อแกง เม็ดขนุน ฯลฯ นอกจากนี้ท้าวทองกีบม้าได้ดัดแปลงขนมชาติตะวันตกในรูปแบบใหม่ๆ จนขนมชาติตตะวันตกกลายเป็นขนมไทยชนิดใหม่ๆ และเนื่องจากการขาดแคลน นมเนย และชาวสยามในอดีตไม่ค่อยได้ดื่มนม จึงมีการใช้กะทิแทนนมขึ้นมา ทำให้เกิดขนมใหม่ๆ อย่างคัสตาร์ดกลายเป็นสังขยา เดิมทีไข่ชาวสยามไว้ใช้ทำอาหารท่านท้าวทองกีบม้าได้นำไข่ที่เอาไว้ทำอาหารมาทำขนม ซึ่งการนำไข่มาทำขนมเป็นการทำขนมแบบชาวตะวันตก
นอกจากชาติตะวันตกแล้วขนมไทยบางอย่างก็ได้รับอิทธิพลจากชาติเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่นกัน เช่น ขนมกุหลาบชาววัง กะละแมรามัญ จากมอญ การนำน้ำมันมาทำขนมและประกอบอาหารแบบคนอินเดีย เฉาก๊วย จากจีน ขนมเบื้องญวน จากเวียดนาม โอ้เอ๋ว จากชาวจีนในมาเลเซีย ฯลฯ นอกจากนี้ขนมไทยแท้ๆ นั้นมักจะใช้ข้าวเป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมครก ข้าวหลาม พวกข้าวเหนียวมูน ข้าวเหนียวมะม่วง เป็นต้น
ในสมัยรัตนโกสินทร์ จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี กล่าวไว้ว่าในงานสมโภชพระแก้วมรกตและฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ได้มีเครื่องตั้งสำรับหวานสำหรับพระสงฆ์ 2,000 รูป ประกอบด้วย ขนมไส้ไก่ ขนมฝอย ข้าวเหนียวแก้ว ขนมผิง กล้วยฉาบ ล่าเตียง หรุ่ม สังขยา ฝอยทอง และขนมตะไล ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการพิมพ์ตำราอาหารออกเผยแพร่ รวมถึงตำราขนมไทยด้วย จึงนับได้ว่าวัฒนธรรมขนมไทยมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรก ตำราอาหารไทยเล่มแรกคือแม่ครัวหัวป่าก์ เขียนโดยท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ในหนังสือเล่มนี้ มีรายการสำรับของหวานเลี้ยงพระได้แก่ ทองหยิบ ฝอยทอง ขนมหม้อแกง ขนมหันตรา ขนมถ้วยฟู ขนมลืมกลืน ข้วเหนียวแก้ว วุ้นผลมะปราง
ขอขอบพระคุณรูปภาพและข้อมูลจากblogspot.com
th.88db.com
zeepearsukon.wordpress.com
th.wikipedia.org
www.kapook.comwww.oocities.comwww.vcharkarn.com