ประวัติฟักทองในสยาม
ฟักทองแบ่งเป็นตระกูลหลักสองตระกูลคือ ตระกูลฟักทองอเมริกัน (pumpkin) ขนาดผลใหญ่ เนื้อยุ่ย กับตระกูลสควอช (Squash) ได้แก่ฟักทองไทยและฟักทองญี่ปุ่น เปลือกแข็ง เนื้อแน่น ฟักทองไทยมีหลายสายพันธุ์ เช่น คางคกดำ คางคกลาย ศรีเมือง ข้องปลา สีส้ม รูปร่างกลมแป้น ผิวขรุขระเล็กน้อย ดิบเปลือกสีเขียวเข้ม เมื่อสุกจึงเป็นสีเหลืองอมส้ม ฟักทองญี่ปุ่น หรือกะโบะชะ (Kabocha) อยู่ในตระกูลสควอช (Squash) เช่นเดียวกับฟักทองไทย ผลเป็นทรงกลมขนาดเล็ก เนื้อแน่น รสหวานมัน
ฟักทองมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกากลาง อเมริกาใต้และอเมริกาเหนือ เช่น ประเทศเม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้พบว่ามีการปลูกมาตั้งแต่ 10,000 – 30,000 ปีที่ผ่านมา เป็นพืชที่มีการใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนาน แล้วแพร่กระจายไปทั่วโลกภายหลัง ฟักทองเข้าสู่ญี่ปุ่นโดยพ่อค้าชาวโปรตุเกสเมื่อราว พ.ศ. 2083 โดยนำมาจากกัมพูชา (เป็นไปได้ว่าฟักทองอาจมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาได้ เพราะในอดีตกัมพูชาเป็นประเทศราชของกรุงศรีอยุธยา) ชื่อภาษาโปรตุเกสของสควอชคือ Cambodia abóbora (カンボジャ・アボボラ)และย่อลงในภาษาญี่ปุ่นเหลือเพียง kabocha บางบริเวณในญี่ปุ่นย่อเป็น "bobora" อีกหลักฐานหนึ่งที่กล่าวถึงฟักทองคือในจดหมายเหตุเดอลาลูแบร์ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการกล่าวถึงฟักทองลูกเล็กๆ เนื้อแดง
พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเกี่ยวกับกรุงแตกว่า
"เมื่อพระเจ้าตากมีชัยชนะพม่าแล้ว ตั้งพักกองทัพ อยู่ที่ในค่ายพม่า ที่โพธิ์สามต้น ขณะนั้นผู้คนและทรัพย์สมบัติ ซึ่งสุกี้มิได้ส่งไปเมืองพม่า เอารวบรวมรักษาไว้ ในค่ายแม่ทัพ มีพวกข้าราชการที่พม่าจักเอาไปไว้หลายคน คือ พระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็ก เป็นต้น ต่างพากันมาเฝ้าถวายบังคมเจ้าตาก ทูลให้ทราบถึงที่ พระเจ้าเอกทัศสวรรคต สุกี้ให้ฝังพระบรมศพไว้ที่ในกรุงฯ และทูลว่า ยังมีเจ้านาย ซึ่งพม่าจับได้ ต้องกักขังอยู่ในค่ายนั้นหลายพระองค์ ที่เป็นพระราชธิดา ของพระเจ้าบรมโกษฐ์ คือ เจ้าฟ้าสุริยาพระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าพินทวดีพระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าจันทวดีพระองค์หนึ่ง พระองค์เจ้าฟักทองพระองค์หนึ่ง รวม 4 พระองค์ ที่เป็นชั้นหลานเธอ คือ หม่อมเจ้ามิตร ธิดาของกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) องค์หนึ่ง หม่อมเจ้ากระจาด ธิดากรมหมื่นจิตรสุนทรองค์หนึ่ง หม่อมเจ้ามณี ธิดากรมหมื่นเสพภักดีองค์หนึ่ง หม่อมเจ้าฉิม ธิดาเจ้าฟ้าจีด องค์หนึ่ง รวม 4 องค์ เจ้านายทั้ง 8 องค์นี้ เมื่อพม่าจับได้ประชวรอยู่ จึงยังมิได้ส่งไปยัง เมืองอังวะ..."ในสมัยรัชกาลที่ 2 เจ้าจอมมารดาศิลา เป็นธิดาขรัวยาย
ฟักทอง (บุตรีขุนสนิทภิรมย์ แห่งราชินิกุล ณ บางช้าง) แสดงว่าชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 รู้จักกับฟักทองกันแล้ว และจิตกรรมฝาผนังสมัย รัชกาลที่ 3 พบผักคล้ายฟักทองประกอบกับเจดีย์รัชกาลที่ 3 ที่วัดโพธิ์มีการพบโบราณวัตถุคล้ายฟักทองอีกด้วย
ขอขอบพระคุณข้อมูลและรูปภาพจาก
en.wikipedia.org
th.wikipedia.org
nokjibjibs.wordpress.com/