การประดับตกแต่งอาคาร และบริเวณด้วยตุ๊กตาจีน หรือรูปสลักหินต่างๆ เพิ่งจะริเริ่มทำขึ้นในสมัย ร.2-3 เนื่องด้วยกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.3 ทรงทำการค้ากับประเทศจีน และมีการนำรูปสลักหินแบบต่างๆ จากเมืองจีนเข้ามาในประเทศสยามเป็นครั้งแรก และนำเข้าเรื่อยมาจนสิ้นรัชกาล การเข้ามาของรูปสลักหิน จากเมืองจีนมีสาเหตุที่พอจะสันนิษฐานได้ 3 ประการคือ
1.มาในฐานะ"เครื่องอับเฉา" เพราะการค้าขายกับจีนสมัยนั้น ทำโดยการบรรทุกสินค้าใส่ลงในเรือสำเภา ขาไปมีสินค้าจำพวกเหล็ก ดีบุก ไม้สัก งาช้าง หนังสัตว์ บรรทุกไปเต็มลำเรือ แต่พอขากลับจากเมืองจีน ถึงแม้จะมีการซื้อสินค้าจากจีนกลับมาด้วยก็ตาม แต่สินค้าเหล่านั้นก็มีน้ำหนักน้อย เพราะเป็นจำพวก ผ้าแพร ผ้าไหม แพร ใบชา และถ้วยชาม ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องหาของ "ที่มีน้ำหนักมาก" มาเป็น"เครื่องอับเฉา" ถ่วงเรือไม่ให้โคลง จึงต้องใช้รูปจำหลักหินที่ช่างจีนทำไว้มาถ่วง เมื่อมาถึงเมืองไทย ก็นำเอารูปจำหลักเหล่านั้น ไปประดับตกแต่งอาคาร และบริเวณวัดต่างๆ ที่กำลังก่อสร้างขึ้นอย่างมากมาย
2.พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดสั่งรูปจำหลักเหล่านี้จากเมืองจีน ด้วยความพอพระทัยในความงดงาม น่าทึ่งและความแปลกของรูปจำหลักเหล่านั้น จึงทรงนำเข้ามาเพื่อประดับวัดวาอารามต่างๆ ที่ทรงสร้างและปฎิสังขรณ์
3.พ่อค้าจีนนำตุ๊กตาหินจีน มาทูลเกล้าถวาย ด้วยเห็นว่าพระองค์ทรงโปรด เพื่อความดีความชอบและความภาคภูมิใจในศิลปกรรมของชาติตน โดยนำติดมากับเรือสำเภาบรรทุกสินค้าของตนที่นำสินค้ามาขายในประเทสสยาม
ดังนั้นช่วงหลังๆ ตุ๊กตาสลักศิลาจีนนี้เองนั้นได้มีการสั่งทำขึ้นเป็นพิเศษจนไปถึงทำเป็นรูปสัตว์ในตำนานของไทย เช่น ครุฑ อีกด้วย แต่ยังคงมีศิลปะจีนผสมอยู่
ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ มีตุ๊กตาจีนมากที่สุดมากกว่า 1,000 ตัว รองลงมาคือ วัดอรุณราชวราราม 304 ตัว
จาก
www.oknation.comwww.bloggang.comwww.watpho.com