ที่มาของชื่อดอกกรรณิการ์สันนิษฐานว่าชื่อกรรณิการ์ที่คนไทยภาคกลางใช้เรียกต้นไม้ชนิดนี้มาจากคำว่ากรรณิกา ซึ่งหมายถึง ช่อฟ้า กลีบบัว ดอกไม้ ตุ้มหู และเครื่องประดับหู อันมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตนั่นเอง ซึ่งหากสังเกตรูปทรงของดอกกรรณิการ์แล้ว ก็จะเห็นว่าเหมาะจะใช้เป็นเครื่องประดับหูได้ดี เพราะมีหลอดที่ใช้สอดในรูที่เจาะใส่ตุ้มหูได้ และกลีบเล็กๆ ที่มีปลายแฉกก็เหมาะสำหรับประดับใบหูได้อย่างงดงาม
ประวัติดอกกรรณิการ์ มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในตอนกลางของประเทศอินเดีย ก้านดอกสามารถนำมาทำเป็นสีย้อมผ้าจีวรพระ หรือสีทำขนม ดอกกรรณิการ์มีกล่าวไว้ในวรรณคดีไทย ในกาพย์ห่อโคลง นิราศธารโศก พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ตอนหนึ่งบรรยายไว้ว่า
"กรรณิการ์ก้านสีแสด คิดผ้าแสดติดขลิบบาง
เห็นเนื้อเรื่อโรงราง ห่มสองบ่าอ่าโนเน" บทร้อยกรองนี้แสดงให้เห็นว่า กรรณิการ์ เป็นไม้ดอกหอมที่มีปลูกในเมืองไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว แต่ไม่ปรากฏหลักฐานว่า ผู้ใดนำเข้ามา ชาวฮินดูถือเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ มักปลูกไว้ตามโบสถ์และใช้ดอกบูชาพระ คนไทยไม่ใช้ดอกกรรณิการ์บูชาพระอาจเป็นเพราะดอกบานในเวลากลางคืน ไม่สะดวกในการเก็บ พอตอนเช้าดอกก็จะร่วงอยู่ตามดิน คนไทยก็จะไม่เก็บมาบูชาพระอีก เพราะร่วงลงสู่พื้นแล้ว
จากth.wikipedia.org
www.doctor.or.thwww.flowerslover.in.thwww.sanook.com